ดับ"กลิ่นปาก"ไม่พึงประสงค์


       คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจในความจริงที่ว่า ตนเองกำลังมีกลิ่นปาก หรือ "ลมหายใจมีกลิ่น" ตามที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านทันตกรรม อ้างอิงถึงในเรื่องนี้เอาไว้ หนึ่งในสี่ของคนเรามีกลิ่นปากและเคยมีงานวิจัยได้รายงานไว้ว่า ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรวัยผู้ใหญ่ต่างก็มีกลิ่นปาก*

   สาเหตุของกลิ่นปาก

       กลิ่นปากสามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกอาจเป็นเรื่องของประเภทอาหารที่รับประทานเข้าไป เช่น อาหารที่มีรสเผ็ดหรือมีกลิ่นตามธรรมชาติ (เครื่องเทศบางอย่างที่ใช้ในการประกอบอาหาร เช่น กระเทียม หัวหอม หรือแม้แต่ปลาทูน่าและทาโก) หากคุณคิดว่ากลิ่นปากของคุณเกี่ยวข้องกับอาหารที่คุณบริโภค ให้ลองบันทึกอาหารที่รับประทานเพื่อระบุว่าเป็นเพราะเหตุผลนี้หรือไม่

 

   5 อาหารที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก

       1. ทุเรียน  กลิ่นอันร้ายกาจของทุเรียนอาจทำให้หลายๆคนต้องส่ายหน้าหนี ถึงกับห้ามนำทุเรียนเข้าประเทศกันเลยทีเดียว กลิ่นผลไม้ชนิดนี้ประกอบไปด้วยสารระเหยถึง 39 ชนิด รวมถึงซัลเฟอร์ต่างๆ ที่อาจเป็นตัวการกลิ่นตุๆ กินทุเรียนเพียงหนึ่งเม็ดอาจมีกลิ่นปากได้เป็นชั่วโมง

       2. หน่อไม้ฝรั่ง  เป็นอีกจำพวกที่ทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นคล้ายๆกับกระหล่ำปลีเน่า ความจริงก็คือ ปรากฎการณ์หน่อไม้ฝรั่งสร้างกลิ่นยังคงเป็นปริศนาสำหรับนักวิทยาศาสตร์แม้จะมีสารต้องสงสัยอาทิ S-Methyl, Thioesters และ Methanethiol แต่การระบุให้แน่ชัดเลยก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์สรุปได้ก็คือไม่มีใครมีภูมิคุ้มกันทุกคนเป็นเหมือนกันหมด คนทั่วไปร้อยละ 60-80 อาจกินหน่อไม้ฝรั่งแต่ไม่เคยได้กลิ่นดังกล่าว แต่กลิ่นนั้นมีอยู่จริงๆ คุณแค่ไม่มีประสาทรับรู้มันต่างหาก

       3. กระเทียม  ไม่มีกลิ่นอะไรจะติดหนึบได้เท่ากลิ่นกระเทียมอีกแล้ว หากอ้างอิงจาก Mayo Clinic กลิ่นกระเทียมสามารถติดอยู่ในลมหายใจได้นานถึง 72 ชั่วโมง นี่เป็นเพราะในกระเทียมมีซัลเฟอร์ชื่อ Allicin ซึ่งทำให้กระเทียมมีกลิ่นรุนแรงกว่าลูกอมหรือหมากฝรั่งดับกลิ่นปากทุกชนิด เมื่อ Allicin สลายตัวในกระเพาะมันจะปล่อยไอระเหยที่มีกลิ่นชวนนึกถึงน้ำพริกถ้วยที่แล้วไอเหล่านี้จะเข้าสู่กระแสเลือดแล้วไปที่ปอดก่อนจะออกสู่โลกภายนอกกับลมหายใจ อย่างไรก็ตามแม้กระเทียมจะไม่ใช่อาหารที่ควรกินในเดทแรกมันก็ดีต่อสุขภาพของคุณมากๆ มีการศึกษาพบว่ากระเทียมสามารถกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ดังนั้น มันจึงลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจด้วย

       4. แอลกอฮอล์  กลิ่นปากจะรุนแรงมากขึ้นเท่ากับจำนวนแก้วที่ดื่ม แก้วแรกหรือแก้วที่สองอาจไม่ส่งกลิ่น แต่ยิ่งจำนวนแก้วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แอลกอฮอล์ในกระแสเลือดและในลมหายใจก็จะทวีความรุนแรงขึ้นเช่นกัน โดยแอลกอฮอล์จะผ่านกระแสเลือดไปสู่ปอดทำให้เครื่องวัดปริมาณแอลกฮอล์และจมูกคนข้างๆ ได้กลิ่น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอะไรไม่สามารถกลบกลิ่นของมันออกไปได้นอกจากเวลา นอกจากนี้ มันอาจมีสาเหตุอื่นๆ
   - การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งเป็นภาวะที่เหมาะที่สุดให้แบคทีเรียต้นตอของกลิ่นปากได้เจริญเติบโต
   - โมเลกุลของแอลกอฮอล์จะไปจับตัวกับแบคทีเรียที่อยู่ตามเหงือกและฟันทำให้แหล่งกลิ่นปากย่ำแย่ลงไปอีก

       5. หัวหอม  กลิ่นไม่ได้หอมสมชื่อ แต่ดีต่อสุขภาพเช่นเดียวกับกระเทียม เพราะมีทั้งใยอาหารและซัลเฟอร์ที่มีประโยชน์ เชื่อกันว่ามันช่วยลดคอเลสเตอรอล กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด หัวหอมมีชื่อเสียงด้านกลิ่นปากที่ไม่จางหายเนื่องจากมันมีซัลเฟอร์ที่ระเหยทันทีเมื่อมันสัมผัสกับอากาศ มันจะเข้าสู่กระแสเลือดและออกมาทางปอด การแปรงฟันหรือลูกอมดับกลิ่นปากอาจช่วยกลบกลิ่นบ้างแต่ไม่สามารถขจัดกลิ่นได้ราบคาบ ข่าวดีก็คือการนำหัวหอมไปทำอาหารผ่านความร้อนอาจช่วยสลายสารที่เป็นสาเหตุของกลิ่นปาก นอกจากนี้หัวหอมที่ปลูกในดินที่มีกำมะถันน้อยกว่าก็จะมีสารจำพวกดังกล่าวน้อยกว่าด้วย (แถมยังรสชาติหวานกว่าด้วยนะ)

       ปัจจัยภายในรวมถึงปัจจัยทางช่องปากที่สามารถมีผลต่อร่างกายอย่างเป็นระบบ ลิ้น ก็เป็นส่วนที่แบคทีเรียต่างๆ เกาะตัวและเติบโตขึ้นได้เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่แบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นจะผลิตสารที่ก่อ ให้เกิดกลิ่นที่เรียกว่าเป็นสารระเหย (VSCs) โดยสาร VSC เบื้องต้นที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก คือ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และเมธิลเมอร์แคบแทน แบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นปากส่วนใหญ่อยู่ที่บริเวณโคนลิ้น

 

   สาเหตุอื่นๆ ของกลิ่นปาก

       1. ปัญหาในเรื่องช่องปากและฟัน (อนามัยทางช่องปากที่ไม่ดีพอ โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์)

       2. ปากคอแห้ง (ไม่มีการหลั่งน้ำลาย)

       3. ปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องช่องปาก จมูกและช่องคอ (หากติดเชื้อที่ไซนัสหรือช่องคอและ ทอนซิลอักเสบแบบไม่แสดงอาการ)

       4. โรคที่เกี่ยวกับระบบการทำงานของร่างกายต่างๆ (โรคเบาหวาน การติดเชื้อหรือเป็นฝีที่ปอด ตับหรือไตวาย ความเจ็บป่วยในระบบทางเดินอาหารต่างๆ)

       5.ผู้ป่วยที่ควบคุมอาหารเป็นประจำ

 

   วิธีกำจัดกลิ่นปาก

       1. การแปรงฟันอย่างถูกวิธี และใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ

       2. การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย วันละ 2 ครั้งหลังแปรงฟัน จะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้

       3. ใช้ที่ขูดลิ้นขูดแบคทีเรียบริเวณส่วนหลังของลิ้น หรือโคนลิ้น

       4. เคี้ยวหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล นานประมาณ 20 นาทีหลังทานอาหารเสร็จ จะช่วยเพิ่มน้ำลาย ทำให้กรดที่เป็นต้นเหตุของฟันผุมีความเป็นกลางมากขึ้น ป้องกันไม่ให้ปากแห้ง

       5. การดื่มน้ำมากๆจะทำให้ปากชุ่มชื้น และควรทานอาหารที่มีเบต้าแคโรทีน(ผักผลไม้ที่มีสีสัน) จะช่วยให้เหงือกแข็งแรง

       6. พยายามลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์และคาเฟอีน

       7. พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพปากและฟัน อย่างน้อยปีละ 2ครั้ง

       หลายกรณีที่เราสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นปาก ด้วยเทคนิคการดูแลรักษาตนเองแบบง่ายๆ แต่ถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ คุณอาจต้องไปพบทันแพทย์ เพื่อหาต้นตอของกลิ่นไม่พึงประสงค์ ยับยั้งไม่ให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรง อันเป็นสาเหตุของโรคต่างๆค่ะ

 

 

 

บทความโดย Fineday

Pooyingnaka.com

อ้างอิง:

*American Dental Association, Council on Scientific Affairs: Association report: Oral Malodor, J Am Dent Asso 134:209-214, 2003.

www.colgate.co.th





แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement